“มะเร็ง” ที่โรคร้ายอันดับต้นๆที่คร่าชีวิตมนุษย์ ซึ่งมะเร็งมีด้วยกันหลายชนิด อย่างมะเร็งช่องปาก อาจจะดูเหมือนไม่เป็นที่รู้จักของหลายคน แต่มะเร็งปากนั้นเป็นมะเร็งที่ติดอันดับ1ใน10ที่พบได้บ่อยที่สุด
มะเร็งในช่องปากคือ
มะเร็งช่องปากเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงซึ่งเกิดขึ้นที่ริมฝีปากและบริเวณต่างๆ ภายในช่องปาก เช่น เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม พื้นช่องปาก และเพดานปาก เป็นต้น มะเร็งช่องปากมีหลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุดเป็นชนิดที่เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุผิวช่องปาก (squamous cell carcinoma) มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค
การเกิดมะเร็งช่องปากนั้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ ได้แก่
- การสูบบุหรี่ โดยพบว่าในบุหรี่มีสารก่อมะเร็ง ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 6 เท่า
- การบริโภคยาสูบผ่านการเคี้ยว อาจก่อให้เกิดการพัฒนาเซลล์มะเร็งที่บริเวณ เหงือก แก้ม หรือริมฝีปาก มากกว่า 50 เท่า
- การดื่มสุรา พบว่าผู้ที่ดื่มมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ 6 เท่า
- รังสียูวี (เฉพาะมะเร็งบริเวณริมฝีปากล่าง)
- ฟันแตก ขอบฟันคม ทำให้เกิดการกระแทกอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากเป็นแผล เมื่อเกิดซ้ำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแผลเรื้อรัง เนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็ง
- โรคติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus)
อาการของมะเร็งช่องปาก
- เป็นก้อนเนื้อที่โตยื่นออกมาจากพื้นผิวช่องปากอย่างรวดเร็ว ผิวขรุขระไม่เรียบ อาจมีลักษณะเหมือนผิวดอกกะหล่ำ หรืออาจมีแผลบนก้อน แต่บางชนิดก็อาจจะมีผิวเรียบได้เช่นกัน
- เป็นแผลที่มีขอบยกนูนและแข็ง บางครั้งอาจเป็นแผลตื้นๆ มีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- รอยปื้นแดงหรือขาวในช่องปาก
- อาการเจ็บปวด มักเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย
5.อาการชา มักเกิดจากมะเร็งลุกลามและทำลายเส้นประสาทรับความรู้สึกขนาดใหญ่
6.อ้าปากได้จำกัด เกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการอ้าและหุบปาก
7.ต่อมน้ำเหลืองใต้คางและบริเวณลำคอโต ซึ่งมักจะไม่มีอาการเจ็บเมื่อคลำ
8.แผลถอนฟันไม่หายในเวลา 1 ดือน
9.น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ในระยะแรกๆ มักจะยังไม่มีอาการเจ็บปวดทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า ซึ่งการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ จะทำให้มีโอกาสหายขาดจากโรคสูง ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติในช่องปากควรพบทันตแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ