โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม คืออะไร อาการ การรักษา และการป้องกัน

แม้โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม จะสามารถหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจเกินไป หากคุณมีอาการผิดปกติบริเวณใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังตาตก ปากเบี้ยว ก็ควรที่เข้าพบแพทย์โดยเร็วเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม คืออะไร?

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม คือ ภาวะอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มีการอักเสบเกิดขึ้น ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเชื้อไวรัส Herpes zoster เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส

เมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัส Herpes zoster จะยังคงแฝงอยู่ภายในปมประสาท หากร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันลดลง ไวรัสก็จะมีการแบ่งตัวและสามารถทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเส้นประสาทได้ ซึ่งอาการนั้นจะมีตั้งแต่เป็นงูสวัดบริเวณลำตัว เป็นตุ่มน้ำขึ้นตามแนวของเส้นประสาทและมีอาการปวดแสบปวดร้อน ถ้าเชื้อไวรัสส่งผลทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีการอักเสบขึ้น ก็จะทำให้เกิดโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ที่ส่งผลทำให้เกิดอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกได้

อาการของโรค

  • มีอาการอัมพาตบริเวณใบหน้าครึ่งซีก ทำให้หลับตาไม่สนิท หนังตาตก ปากเบี้ยว ยักคิ้วไม่ได้ และมุมปากตก
  • อาจมีอาการปวดหู เสียงดังในหู การได้ยินลดลง
  • มีตุ่มน้ำที่ใบหูและในรูหู
  • ปวดที่บริเวณใบหน้า
  • อ่อนเพลีย และอาจมีไข้ต่ำๆ

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ติดต่อกันได้หรือไม่

สามารถที่จะติดต่อกันได้หากมีการสัมผัสที่ตุ่มน้ำของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่งผลให้ผู้ที่มาสัมผัสเป็นโรคอีสุกอีใสในรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันซึ่งก็คือ ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใสมาก่อน

การรักษา

  • รักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัส เช่น Valacyclovir, Acyclovir หากเริ่มมีอาการควรได้รับยาภายใน 3 วัน และจะมีโอกาสหายเป็นปกติประมาณ 70% แต่หากได้รับยาภายใน 4-7 วัน ก็จะมีโอกาสหายเป็นปกติประมาณ 50%
  • รักษาตามอาการ เช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวด แพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวด หากผู้ป่วยหลับตาไม่สนิท ซึ่งอาจทำให้กระจกตาเป็นแผลหรือตาแห้งได้ แพทย์ก็จะให้ขี้ผึ้งป้ายตาหรือน้ำตาเทียม

การป้องกัน

  • ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ หากร่างกายอยู่ในช่วงที่อ่อนแอ ดังนั้นควรทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ให้ทำการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ Herpes zoster ซึ่งสามารถที่จะป้องกันการติดเชื้ออีสุกอีใสได้ 90-100%

หากเป็นโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม เวลาที่ออกไปข้างนอกควรที่จะใส่แว่นกันแดด และใช้น้ำตาเทียม สำหรับเวลานอนให้ใช้ที่ปิดตาเพื่อเป็นการลดอาการตาแดง และควรปฏิบัติตัวและรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด